เคยสงสัยเกี่ยวกับไม้ที่ทำกีต้าร์โปร่งกันมั้ย ว่าไม้แต่ละแบบมีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง แต่ละแบบให้โทนเสียงแบบไหน ไม้แท้หรือไม้อัดดีกว่ากัน วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับไม้และวัสดุที่ใช้ทำส่วนต่างๆของกีต้ารโปร่งกัน
เนื่องด้วยกีต้าร์โปร่งเกือบทั้งหมดในท้องตลาดทำจากไม้เป็นหลัก จะมีบางส่วนน้อยที่ใช้วัสดุทดแทนหรือไม่ ก็มีแต่โครงเปล่าๆ แล้วสร้างเสียงผ่านระบบไฟฟ้า แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะกีต้าร์โปร่งที่ใช้ไม้นะ สำหรับไม้ทำกีต้าร์โปร่งที่พวกเราพบได้บ่อยๆ ก็เช่น
ไม้สปรูซ (Spruce)
กีต้าร์โปร่งส่วนใหญ่ที่เราเจอในท้องตลาดก็มักใช้ไม้ชนิดนี้ ซึ่งก็ยังมีสายพันธุ์ปลีกย่อยลงไป ที่นิยมมากหน่อยก็ Sitka spruce หรือที่เป็นที่ปรารถนาสุดๆ ของคนรักกีต้าร์โปร่งก็คงหนีไม่พ้น Adirondack spruce ซึ่งปัจจุบันมีราคาแพงและหายากมาก
โทนเสียง
ให้เสียงเคลียร์ ใส ดัง และมีความแข็งแรงสูงมาก ทนต่อแรงดึงมหาศาลของสายกีต้าร์โปร่งซึ่งเบอร์ใหญ่กว่ากีต้าร์ไฟฟ้าได้ดี จึงนิยมใช้ทำส่วนไม้หน้าหรือไม้ท็อปของกีต้าร์โปร่งสายเหล็ก
ไม้ซีดาร์ (Cedar)
นิยมใช้ทำไม้ท็อปเนื่องจากมีคุณสมบัติในเรื่องความแข็งแรง แต่สิ่งที่ไม้ซีดาร์ แตกต่างจากไม้สปรูซก็คือโทนสีที่ออกเหลืองแก่ๆ มากกว่า จึงมักถูกนำมาทำท็อปของกีต้าร์คลาสสิค แต่บางครั้งก็มีการนำมาทำท็อปของกีต้าร์โปร่งสายเหล็ก
โทนเสียง
โทนเสียงที่มีความอุ่นนวล มีความหวานมากกว่าไม้สปรูซ เหมาะกับการเล่นแนว finger style ที่ต้องการซาวด์หวานๆ หล่อๆ บาดใจสาว ส่วนใหญ่จึงถูกนำมาใช้เป็นไม้ท็อปของกีต้าร์คลาสสิค
ไม้มะฮอกกานี (Mahogany)
สำหรับคนเล่นกีต้าร์ไม่ว่าโปร่งหรือไฟฟ้า มะฮอกกานีคือไม้ที่เราจะพบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง นิยมใช้ในหลายส่วนของกีต้าร์โปร่ง ตั้งแต่คอไปจนถึงบอดี้ทุกส่วนโดยเฉพาะไม้หลังและไม้ข้าง
โทนเสียง
ไม้ชนิดนี้ให้โทนเสียงที่เด่นย่านเสียงกลางเเละตอบสนองต่อย่านเสียงนี้ได้อย่างดี กีต้าร์ที่มีบอร์ดี้ทำจากไม้มาฮอกกานีจะมีเสียงกลางที่พุ่งเเละชัดมากตอบสนองต่อการเล่นทั้งเเบบ finger style เเละ Strumming ได้ดี
ไม้ซะพีลี (Sapele)
ไม้ที่มีคุณสมบัติทางเสียงใกล้เคียงกับมะฮอกกานีมาก แต่มีเนื้อแข็งกว่า และหาในธรรมชาติได้ง่ายกว่า จึงมีราคาถูกกว่า ปัจจุบันเราเริ่มพบผู้ผลิตหลายรายนำไม้ชนิดนี้มาใช้ทดแทนไม้มะฮอกกานี หรือใช้ทำกีต้าร์โปร่งรุ่นที่ให้โทนเสียงคล้ายมะฮอกกานี แต่ขายในราคาประหยัดกว่า
โทนเสียง
มีโทนเสียงคล้ายๆไม้มะฮอกกานี แต่มันจะมีความแหลมใสมากกว่ามะฮอกกานีนิดๆ
Rosewood
เป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม นิยมใช้ทำฟิงเกอร์บอร์ด หย่อง รวมถึงด้านหลังและด้านข้างบอดี้ ไม้ชนิดนี้มีความหนาแน่นสูงกว่ามะฮอกกานี แถมยังมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เป็นไม้ที่ใคร ๆ หลายคนอยากมีไว้ครอบครอง ไม้ rosewood เป็นไม้ที่มีราคาสูงกว่ามะฮอกกานีเนื่องจากหายากกว่า
ปัจจุบันไม้ชนิดนี้ถูกคุ้มครองการนำเข้า-ส่งออกอย่างเข้มงวดโดย CITES ผู้ผลิตกีต้าร์จึงมักจัดกีต้าร์รุ่นที่ใช้ไม้ชนิดนี้ไว้ในระดับที่สูงกว่า และมักมีราคาสูงกว่า
โทนเสียง
ให้เสียงที่มีย่านเบสที่เป็นตัวชัดเจนมีโฟกัสมากกว่ามะฮอกกานี รวมถึงมีย่านแหลมที่ชัดเจนกว่า เป็นไม้ที่ให้โทนเสียงที่เล่นได้กว้างทุกแนวจะตีคอร์ดก็ชัด จะ finger style ก็ใส
ไม้มะเกลือ หรือไม้เอโบนี (Ebony)
ไม้ชนิดนี้มีสีดำเข้มไปจนถึงดำสนิทจนแทบดูไม่เหมือนไม้ มักมี grain หรือเสี้ยนไม้ที่ละเอียดมาก เป็นไม้ที่มีความหนาแน่นและความแข็งมากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ความแข็งสุดๆ นั้นก็กลายเป็นข้อเสีย คือมีความเปราะ แตกหักง่ายกว่าไม้ rosewood ไม้ชนิดนี้นิยมใช้ทำฟิงเกอร์บอร์ดและหย่องของกีต้าร์ที่เป็นรุ่นสูงๆ ของบางแบรนด์ หรือไม่ก็เป็นไม้มาตรฐานของแบรนด์ที่มีราคาสูงแทบทุกรุ่น
โทนเสียง
มีโทนที่เด่นย่านแหลม คม ไบรท์ โน้ตมีความชัดเจนมาก มีคาแรคเตอร์แบบโมเดิร์นมากกว่าคลาสสิค
ไม้เมเปิ้ล (Maple)
สำหรับคนเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าคงไม่มีใครไม่รู้จักไม้เมเปิ้ล ซึ่งมักจะมาในรูปคอของกีต้าร์ Fender และท็อปของกีต้าร์ Gibson Les Paul แต่สำหรับกีต้าร์โปร่งที่ใช้ไม้ชนิดนี้ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย ไม้ชนิดนี้มีโทนสีเหลืองอ่อนๆ ทำสีติดง่าย แถมบางครั้งก็มีลวดลายสวยงาม
โทนเสียง
ไม้เมเปิ้ลให้โทนเสียงไบรท์ ใส คม มีการกดความถี่เสียงย่านกลางนิดๆ โทนโดยรวมมีความสดใส มีชีวิตชีวาแต่ไม่หนักแน่นเท่าไม้อื่นๆในทรงเดียวกัน เพราะย่านเบสไม่เด่น กีต้าร์โปร่งที่ใช้ไม้ชนิดนี้ที่เด่นๆ ก็เช่น Gibson J 200 เป็นต้น
ไม้แท้ (Solid) หรือ ไม้อัด (laminated) ดีกว่ากัน
หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับกีต้าร์โปร่ง คือ บอดี้ทำด้วย “ไม้แท้ (solid wood)” หรือ “ไม้อัด (laminated wood)” ดีกว่า
ไม้แท้
ชื่อก็บอกอยู่ว่าไม้แท้ ก็คือไม้ที่ตัดจากต้นแล้วเอามาผ่านกระบวนการเลื่อย อบ ดัด จัดเข้ารูปจนเป็นกีต้าร์โปร่ง ตรงไปตรงมาอย่างที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น
ข้อดี
- มันมักจะให้ความซับซ้อนของเสียงที่ดีกว่า มีมิติมากกว่า และมีโอกาสที่เสียงจะใสขึ้น หรือที่เรียกว่า “เสียงเปิด” มากขึ้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายปีข้างหน้า
ข้อเสีย
- บางครั้งเลือกลายไม้สวยๆ ได้ยากถ้าไม่ใช่รุ่นท็อป ๆจริง ๆ
- จุดอ่อนอีกอย่างคือ มันอ่อนไหวต่อความชื้นและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอาจไม่เหมาะกับการเดินทางไกลหรือพามันไปในที่ที่มีความชื้นสูง
ไม้อัดหรือ laminated
เกิดจากการนำเอาไม้แผ่นบาง ๆหลายๆแผ่นมาประกบกันด้วยกาว ส่วนชั้นนอกสุดที่เราเห็นเป็นลายไม้นั้น ที่แท้ก็คือชิ้นไม้บาง ๆ หรือวีเนียร์แผ่นบางเฉียบที่มีลวดลายสวยๆ มาแปะไว้เพื่อความสวยงาม และคงไม่แปลกอะไร ถ้ากีต้าร์ไม้ laminated ส่วนใหญ่จะมีลวดลายสวยกว่าไม้แท้ นั่นก็เพราะผู้ผลิตสามารถเลือกเกรดลายไม้ laminate ชั้นนอกได้นั่นเอง
ข้อดี
- แม้ดูราคาถูกกว่าแต่กลับมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากกว่า เพราะการถูกประกบไม้หลายชั้นทำให้โครงสร้างมีความคงทนมากกว่า
- ยืดหยุ่นต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมากกว่า มิหนำซ้ำยังมักมีลวดลายสวยงามสะดุดตามากกว่าในราคาที่ถูกกว่ามาก
- เรื่องของสุ้มเสียงนั้น แม้เซียนกีต้าร์โปร่งหลายท่านจะนิยมไม้แท้เป็นหลัก แต่เทคโนโลยีการอัดไม้ของทุกวันนี้ก็ทำให้เราเริ่มพูดได้ไม่เต็มปากว่าเสียงด้อยกว่าไม้แท้
จากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเองที่ทำงาน part time ในร้านกีต้าร์เจ้าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้ลองกีต้าร์โปร่งมาแล้วทุกระดับราคา ตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท ก็ต้องพูดตามตรงว่าบางครั้งกีต้าร์แพงก็ไม่ได้แปลว่าเสียงจะถูกใจเราเสมอไป
เรื่องแบบนี้จึงอยากแนะนำว่า จะซื้อกีต้าร์โปร่งควรไปลองเอง ลองให้มากรุ่นมากราคาที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ บางทีกีต้าร์โปร่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา อาจไม่ใช่รุ่นราคาแพงก็เป็นได้นะ
Bracing หรือ การวางโครงไม้
กีต้าร์โปร่งทุกตัวจะมีการวางโครงไม้ความยาวต่าง ๆ กันหลายชิ้นไว้ในตัวกีต้าร์โดยติดไว้ใต้แผ่นไม้หน้า จุดประสงค์หลักก็เพื่อความแข็งแรงของโครงสร้าง แต่รูปแบบการวางไม้พวกนี้มีผลต่อเสียงด้วยนะ
การวาง bracing นั้นมีหลายสไตล์แตกต่างกันไปตามผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่ก็พัฒนามาจากสไตล์ bracing เก่าแก่ดั้งเดิมที่ได้รับการยอมรับผ่านกาลเวลามานับร้อยปี โดยแพทเทิร์นการวาง bracing ที่เราจะเจอบ่อยๆ คือ X Bracing และ Classical/Fan bracing
การวางโครงแบบ Classical/fan bracing ของกีต้าร์สายเอ็นมีแพทเทิร์นการวางไม้ โครงเรียงเป็นแถวหน้ากระดานหลายอันแล้วแผ่ออกเป็นแนวโค้งคล้ายพัดจีน แพทเทิร์นแบบนี้ให้เสียงที่มีความนุ่มนวล เป็นรูปแบบที่มีมาช้านาน
แต่ X bracing แตกต่างออกไป กล่าวคือมีการวางเรียงไม้โครงเป็นรูปกากบาทหรือตัว X ซึ่งก็ถูกคิดค้นขึ้นโดยตั้งใจออกแบบแพทเทิร์นกากบาทนี้เพื่อรองรับแรงดึงจากสายเหล็กที่มากกว่าสายเอ็น แต่นอกจากให้ความแข็งแรงกับโครงสร้างมากขึ้นแล้ว จุดเด่นในเรื่องเสียงก็คือมันให้เสียงที่พุ่งไปข้างหน้า มี projection มีความชัดเจน ใช้งานได้กว้างกว่า ตอบสนองสไตล์การเล่นของกีต้าร์สมัยใหม่ได้ดี
และด้วยความที่กีต้าร์โปร่งสายเหล็กอยู่คู่กับ bracing แบบตัว X มานาน ผ่านบทพิสูจน์ของกาลเวลามานับร้อยปี จึงไม่แปลกอะไรที่การวางโครงสไตล์นี้ของกีต้าร์ จะถูกนำไปใช้อย่างเเพร่หลาย
บทความนี้ก็คงไขข้อข้องใจของหลายๆคนได้แล้ว ว่าไม้แต่ละชนิดมันมีผลกับเสียงกีต้าร์โปร่งยังไงบ้าง แต่จะพูดว่าไม้แบบไหนดีกว่าก็คงตอบได้ยาก แม้จะเป็นไม้แท้หรือไม้อัดก็คงต้องขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ใช้เองว่าชอบเสียงกีต้าร์แบบไหน หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกกีต้าร์โปร่งมากขึ้นนะครับ