สมาชิกใหม่ของครอบครัว Music Concept Chat Via Facebook , Tel: 02 255 6448 , Line@

เทคนิคการดรอปสายกีตาร์ (Drop tuning guitar)

drop-tuning-feature

การดรอปสายกีตาร์ (Drop D) เรื่องน่ารู้ของคนอยากร็อก

พาวเวอร์คอร์ด -VS- การดรอปสายกีตาร์ (Drop D)

เราเคยพูดถึงการจับคอร์ดแบบพาวเวอร์คอร์ด (power chord) ไปแล้ว หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการเล่นพาวเวอร์คอร์ดที่จับแค่สายบน 2-3 สายแล้วตีคอร์ดลงมาเลย ก็อาจจะคิดว่านั่นคือการเล่นที่สะดวกสุด ง่ายสุด ของการเล่นคอร์ดเพลงร็อกแล้ว

แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยมั้ยว่า เวลาฟังเพลงร็อกที่มีจังหวะเร็วๆ ทำไมเขาเปลี่ยนคอร์ดกันได้ไวเหลือเกิน ไวจนฟังๆดูแล้วเราหัดตีพาวเวอร์คอร์ดตามยังไงก็ไม่ทัน คำถามนี้ผู้เขียนเองก็เคยสงสัยสมัยหัดเล่นกีตาร์ใหม่ๆ ว่า ทำไมเปลี่ยนคอร์ดตามเพลง Down With The Sickness ของวง Disturbed ไม่ทันเลยฟะ แถมคอร์ดที่เขียนไว้ในหนังสือเพลงมันก็เยอะจนไม่น่าเชื่อว่านั่นจะเล่นได้ด้วยพาวเวอร์คอร์ด

คำตอบของปัญหานั้นก็คือ เราสามารถใช้การตั้งสายมาช่วยในการเล่นสไตล์ร็อกได้ เราเรียกการตั้งสายที่ว่านี้ว่า drop tuning วันนี้เลยอยากพูดถึงเรื่องการดรอปสาย

การดรอปสายกีตาร์ (Drop D tuning) มันตั้งสายยังไง? จับคอร์ดยังไง?

สำหรับเพลงร็อกแล้ว จุดประสงค์ของ drop tuning ก็คล้ายกับ power chord คือพยายามลดจำนวนนิ้วที่ใช้ในการจับคอร์ดลง เพื่อความคล่องตัวสูงสุดหากต้องเล่นด้วยความเร็ว แต่ drop tuning แตกต่างออกไปตรงที่มีการตั้งสายเข้ามาช่วย

วิธีนั้นก็ง่ายมาก ก็คือตั้งสายทั้งหมดตามปกติก่อน โดยอาจจะเป็น E standard (E ไป e) หรือจะตั้งสายแบบ Eb ก็แล้วแต่สะดวก จากนั้นเราก็ลดคีย์ของสาย 6 ลง ‘หนึ่งเสียงเต็ม’ เช่น จากเดิม E ก็ลดไปเป็น D หรือถ้าเดิมเป็น Eb เราก็ลดไป Db วิธีการตั้งสาย ถ้าตั้งแบบรีบใช้ ตั้งสายในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฮ่าาาา) ก็สามารถใช้วิธีบ้านๆ คือดีสาย 4 สลับกับสาย 6 ซ้ำๆ แล้วมือซ้ายก็ค่อยๆหมุนลูกบิดสาย 6 จูนต่ำลงมา จนกระทั่งฟังเสียงโน้ตแล้วมันกลมกลืนกัน ก็เป็นอันใช้ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรใช้เครื่องตั้งสายดีกว่านะ ถ้าไม่มีเครื่องตั้งสายก็ใช้มือถือนี่แหละ เปิดเว็บเครื่องตั้งสายออนไลน์ของ Fender หรือจะโหลดแอพตั้งสายกีตาร์มาใช้ในมือถือก็ได้ โอ๊ย สารพัดวิธีที่ไม่ต้องเสียตังค์

แต่สำหรับคนที่ต้องการให้กีตาร์ตัวเดียวสามารถสลับไปมาระหว่าง E standard กับ drop D ได้แบบสะดวก รวดเร็ว ก็มีอุปกรณ์เสริมให้อัพเกรดกัน เช่นเรียกว่า D-tuna ผลิตผลจากไอเดียของ Eddie Van Halen ไว้ติดตั้งแทน intonation adjustment screw ของสายหกบนคันโยกแบบ Floyd Rose ซึ่งการใช้งานก็แสนง่าย เพียงดึงเจ้าสิ่งนี้ไปทางด้านท้าย มันก็จะลด tension ของสายหกลงไปหนึ่งเสียงเต็มทันที

ดรอปสายกีตาร์ได้แล้ว แล้วเล่นยังไงอะ?

วิธีจับคอร์ดแบบ dropped tuning นั้นง่ายมากๆ ก็แค่ใช้นิ้วชี้นิ้วเดียวทาบสาย 6-5 แล้วใช้นิ้วที่เหลือ เช่นนิ้วก้อย บอดสายอื่นๆไว้ แต่ตำแหน่งของโน้ตบนสาย 6 ก็จะเปลี่ยนไป คือเราต้องขยับนิ้วเข้าด้านในมากขึ้น 2 เฟรทจากเดิม ตัวอย่างเช่น จากเดิมเราทาบพาวเวอร์คอร์ดที่เฟรท 3 สายหก เราต้องย้ายไปทาบที่เฟรท 5 แทน ที่เป้นแบบนี้ก็เพราะเราตั้งสาย 6 ให้หย่อนลงไปหนึ่งเสียงเต็ม (1 เสียง เท่ากับ 2 เฟรท) เราจึงต้องจับเข้ามาลึกมากขึ้นเพื่อชดเชยโน้ตสายหกที่เปลี่ยนไปนั่นเอง แน่นอนว่าก็คงต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยและปรับตัว
สำหรับการเล่นกีตาร์โปร่งหรือการเล่นคอร์ดนอก เมื่อกีตาร์มีการดรอปสายหกแล้ว ก็แน่นอนว่าจะจับคอร์ดแบบสแตนดาร์ดอย่างเดิมไม่ได้ ต้องมีการปรับฟอร์มนิ้วใหม่ ถ้าเป็นการเล่นคอร์ดที่มีโน้ต D เป็นตัวหลักก็ง่ายหน่อย เพราะไม่ต้องบอดสายหกเหมือนแต่ก่อน ตัวอย่างการจับคอร์ดนอกบนกีตาร์ดรอปสาย ก็เช่น

ดรอปสายกีตาร์

ดรอปสายกีตาร์

 

ประโยชน์อื่นๆของการดรอปสายกีตาร์ (Drop D)

นอกจากเพื่อความเร็วในการเปลี่ยนคอร์ดในเพลงร็อกที่ใช้เสียงแตกหนักๆแล้ว ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะได้ ‘ความต่ำ’ ที่มากกว่าเดิมจากสายหก ได้ความทุ้ม นุ่ม ลึกจากกีตาร์มากขึ้น ซึ่งถ้า arrange ดีๆ ก็อาจกลายเป็นเสน่ห์ในการเล่นไปเลยก็ได้ ลองฟังเพลง “ดาว” เวอร์ชันวง Pause ดู ลองหัดตั้งสายต่ำแล้วก็เอาไปเล่นให้สาวฟังดิ หล่อนะขอบอก

สำหรับการเล่นแบบมีคนร้อง ไม่ว่าจะเล่นเป็นวงหรือเล่นคนเดียว การดรอปสายก็อาจมีประโยชน์สำหรับนักร้องที่ไม่ถนัดกับการใต่คีย์ E ทำให้นักร้องสามารถร้องได้ง่ายขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง และซาวด์กีตาร์ก็ต่ำตามด้วย

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการดรอปสายกีตาร์ (Drop D)

เนื่องจากการดรอปสายเป็นการ ‘ลดคีย์’ จากการตั้งสายปกติลงมา หรือในทางเทคนิคมันก็คือการ ‘ลดความตึงของสาย’ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเราตั้งสาย 6 แค่สายเดียวคงไม่เท่าไหร่ แต่บางคนอยากลงต่ำแบบต่ำได้ใจ เลยลดมันจาก E standard ไป dropped C# (สายบนลดลงเสียงครึ่ง ห้าสายที่เหลือลดครึ่งเสียง) สิ่งที่เกิดขึ้นกับกีตาร์ก็คือ แรงดึงจากสายลดลง tension ลดลง แรงที่กระทำต่อคอกีตาร์ก็ลดลง คอกีตาร์จึงมีความ “แอ่น” มากขึ้น ซึ่งถ้าใครตั้งความสูงของสายไว้เตี้ยเรี่ยเฟรทมากๆ ก็อาจมีอาการติดเฟรท โดยเฉพาะกีตาร์ที่สเกลายสั้นๆอย่างตระกูล Gibson จะมีโอกาสเจอปัญหานี้ง่ายกว่าพวกกีตาร์สเกลยาวกว่า ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะต้องมีการ set up คอกีตาร์เพื่อชดเชย tension ที่เปลี่ยนไปด้วย
นอกจากการเซ็ทคอกีตาร์ใหม่แล้ว อีกอย่างที่ควรลองทำถ้าต้องการเล่นดรอปสายจริงๆจังๆ ก็คือการใช้สายขนาดใหญ่ขึ้น เพราะสายกีตาร์แต่ละขนาดถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ tension ที่แตกต่างกันไป แต่โดยหลักการคือ เมื่อ tension ถูกลดลงไปจนไม่สัมพันธ์กับขนาดสายและระยะสาย (ความยาวสเกลของคอกีตาร์) สายก็จะเริ่มหย่อนจนย้วยและเกิดอาการตีเฟรทได้
ถ้าถามว่า อยากดรอปไปคีย์นั้นคีย์นี้ ควรใช้สายขนาดเท่าไหร่ดี? อันนี้คงต้องไปทดลองกันเอาเอง เพราะกีตาร์แต่ละตัวก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางตัวสเกลยาวก็ได้เปรียบหน่อย อาจไม่ต้องอัพขนาดสายชดเชยมาก แต่บางตัวสเกลสั้นก็ต้องระวังหน่อย บางตัวปิคอัพซาวด์วินเทจกลมๆโน้ตไม่ค่อยเคลียร์ถ้าดรอปต่ำเกินก็จะฟังเบลอๆ ฯลฯ เป็นต้น ตัวแปรมีมากมาย การลองผิดลองถูกบ้างก็เหมือนได้ศึกษานิสัยใจคอของกีตาร์สุดรักของตัวเองให้ลึกซึ้งมากกว่าการดีดคีย์ E standard ก็นับว่าน่าทดลองดู น่าสนุกนะ

เข้าท่าแฮะ งั้นตั้งสายแบบ drop D ไว้เล่นแทน power chord ไปเลยดีมั้ย?

ถึงแม้การดรอปสายจะช่วยในเรื่องการเล่นคอร์ดของเพลงร็อก แต่เนื่องจากมันเกี่ยวกับการเปลี่ยนการตั้งสายของกีตาร์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนฟอร์มการจับคอร์ดอย่างพาวเวอร์คอร์ด ดังนั้นการตั้งสายแบบนี้จึงเป็นเพียงการตั้งสายเพื่อรูปแบบการเล่นที่เฉพาะเจาะจงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ดังที่เรามักเห็นศิลปินดังๆ มีกีตาร์หลายตัววางไว้หลังเวที ซึ่งแต่ละตัวก็ตั้งสายหรือใช้ขนาดสาย ใช้ปิคอัพ แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าจะถามว่าควรตั้งสายแบบ drop D ไว้เป็นตัวหลักเลยมั้ย? ก็คงต้องถามกลับว่า แล้วเพื่อนๆ เล่นกีตาร์ดรอปสายบ่อยแค่ไหน หลักๆแล้วเล่นเพลงสไตล์อะไรซะมากกว่า สำหรับผู้เขียนเองมีกีตาร์ 7 สายไว้เล่นซาวด์ต่ำๆ อยู่แล้ว (ต่ำสะใจกว่าดรอปกีตาร์หกสายอีก) กีตาร์หกสายของตัวเองก็เลยตั้งสายเป็น E หรือไม่ก็ Eb ส่วน drop D ก็นานๆจะตั้งเล่นที

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆที่กำลังหัดเล่นกีตาร์นะครับ

0 Comments

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*