สายสะพายกีต้าร์ (strap) เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของมือกีต้าร์ มือเบส ที่ต้องออกงาน เล่นร้าน เล่นสด เรียกว่ามันเป็นอุปกรณ์พื้นๆ แต่ขาดไม่ได้สำหรับนักดนตรีกลุ่มนี้ เหมือนแฟนที่คบกันมานานจนรู้ใจ ความหวือหวาตื่นเต้นอาจเริ่มหาไม่เจอ แต่หากขาดเธอ เหมือนขาดอากาศหายใจ ฮ่าๆๆ
อันที่จริงเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้มันก็มีหลักในการเลือกซื้ออยู่นะ วันนี้เลยอยากเขียนถึงมันสักหน่อย เผื่อใครกำลังหาซื้ออยู่บทความนี้จะได้เป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อ เรื่องราวของสายสะพายมีอะไรน่ารู้บ้าง ไปดูกันเลยจ้า
1. ประเภทการใช้งาน
สายสะพายที่แขวนขายในร้านเครื่องดนตรีมีทั้งสำหรับกีต้าร์โปร่ง กีต้าร์ไฟฟ้า รวมไปถึงเบส ดูให้ดีก่อนซื้อว่ามันใช่สิ่งที่เราจะเอาไปใช้มั้ย อย่างเช่น จะหาสายสะพายเบสแต่ไปเห็นลายของสายสะพายกีต้าร์สวยกว่าเลยซื้อมา ก็ไม่ผิดนะ แต่มันจะลำบากเวลาใช้งาน เนื่องจากสายสะพายกีต้าร์ไฟฟ้าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับเครื่องดนตรีที่มีน้ำหนักมากกว่าอย่างเบสตัวใหญ่ๆ ก็เลยเล่นไม่สบาย เสียสุขภาพ
อย่างที่บอก การใช้ของผิดประเภทมันก็ไม่ผิดหรอก แต่ระวังจะลงเอยด้วยการขายต่อขาดทุนแล้วก็ต้องซื้อสายสะพายเส้นใหม่ กลายเป็นเสียเงินสองรอบ
TRICK ควรเช็กก่อนว่า สายสะพายที่เรากำลังสนใจนั่น ออกแบบมาเฉพาะสำหรับเครื่องดนตรีที่เราจะซื้อหรือไม่
Gibson Hummingbird สายสะพายที่ออกแบบสำหรับกีต้าร์โปร่ง
2. กลไกล็อกและขนาดของรูใส่หมุด
สายสะพายบางรุ่นมากับกลไกล็อกที่ปลายสายซึ่งช่วยให้มั่นใจว่ากีต้าร์จะไม่หลุดจากรูสายสะพายโดยไม่ต้องเปลี่ยนหมุดใส่สายสะพายบนตัวกีต้าร์ให้วุ่นวาย แต่อยากบอกว่าระบบล็อกที่มากับสายสะพายอาจกับกีต้าร์บางตัวไม่ได้ เรื่องนี้เชื่อว่าหลายๆ คนอาจคาดไม่ถึงว่าจะกลายเป็นประเด็น ผู้เขียนเองก็เคยคิดเช่นนั้น จนวันนึงที่สั่งสายสะพายแบบมีกลไกล็อกที่ปลายสายมาเพื่อใส่กับกีต้าร์ Paul Reed Smith แล้วงานเข้า เพราะรูของกลไกล็อกเล็กเกินไป ไม่สามารถใส่กับหมุดใส่สายขนาดใหญ่กว่าปกติของกีต้าร์ PRS ได้ สุดท้ายต้องส่งคืนร้าน
แต่สำหรับสายสะพายปกติทั่วไปที่ไม่ใช่ระบบกลไกเฉพาะมักไม่มีปัญหาแบบนี้
TRICK ถ้าไม่แน่ใจเรื่องขนาดรูใส่หมุดสายสะพาย ก็เช็กกับทางร้านก่อนซื้อ
3. ความยาวและความกว้าง
สายสะพายส่วนใหญ่ในท้องตลาดมีความยาวเมื่อยืดออกจนสุดที่ราวๆ 40 – 60 นิ้ว ซึ่งจะว่าไปก็พอสำหรับการใช้งานปกติและมักไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ที่ต้องเลือกกันหน่อยจะเป็นเรื่องของความกว้างซะมากกว่า สายสะพายมีหลายความกว้างให้เลือก ตั้งแต่แบบแคบคือ 2 นิ้ว ไปจนถึงเส้นกว้างๆ ของเบส คือประมาณ 4 นิ้ว หากพูดถึงในแง่ของการใช้งานแล้ว ยิ่งสายสะพายมีความกว้างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีพื้นที่กระจายน้ำหนักของกีตาร์ที่กดลงไหล่ได้มากขึ้นเท่านั้น ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าสายที่แคบกว่า
แต่ ถ้างั้นทำไมเขาไม่ใช้สายเส้นกว้างๆ กันให้หมดล่ะ? ก็เพราะยิ่งกว้าง ยิ่งดูเกะกะ แต่ตัวแปรอีกอย่างที่บางคนอาจคิดไม่ถึงคือ สายเส้นใหญ่ทำให้บุคลิกดูมีอายุ ยิ่งมีลวดลายคล้ายผ้าทอมือมันยิ่งขัดใจวัยรุ่น ดูไม่ค่อยเฟี้ยวเท่าไหร่ นักดนตรีวันรุ่นทั้งหลายก็เลยไม่ค่อยอยากใช้กัน แต่มือกีต้าร์รุ่นใหญ่บางท่านก็อาจบอกว่าเป็นอะไรไปล่ะ ขลังออก ยังกะ Carlos Santana ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องความกว้างกับลุคของผู้สะพายนี่ ก็เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลนะ ไม่มีอันไหนผิด
TRICK ยืมสายสะพายของเพื่อนที่เป็นความกว้างแบบที่เราอยากได้ลองสะพายแล้วส่องกระจกหรือถ่ายรูปตัวเองดู หรือถ้าไปที่ร้านก็ให้พนักงานในร้านช่วยใช้มือถือของเราถ่ายรูปให้ดู จะได้เห็นว่าลุคเราจะออกมายังไง จะเห็นภาพชัดเจนกว่ามองดูรูปของมันในเว็บ
4. วัสดุ/ความทนทาน
วัสดุที่ใช้ทำสายสะพายมีหลายชนิด สำหรับสายสะพายระดับราคาหลักร้อยหรือหลักพันกว่าบาทส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุสังเคราะห์จำพวกไนลอนหรือ polypropylene ถ้าราคาแถวๆ สองสามพันบาทขึ้นไปก็จะเริ่มมีตัวเลือกวัสดุหนังหล่อๆ หรูๆ ให้เลือก แต่เครื่องดนตรีอย่างกีต้าร์หรือเบส เป็นของที่มีน้ำหนักอย่างมากก็ไม่เกินห้ากิโลกรัม วัสดุอะไรก็รับไหว ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ วัสดุของจุดเชื่อมต่อปลายสาย ตรงที่เราจะใช้คล้องหมุดสายสะพาย ตรงนี้ต้องมีความหนาแน่น ทนทาน เนื่องจากจะเกิดความสึกหรอเมื่อใช้ไปนานๆ ถ้าเป็นวัสดุหนังเทียมถูกๆ แผ่นหนังตรงรูใส่หมุดมักบาง ไม่ทนทาน และเปื่อยง่ายเมื่อผ่านการเสียดสีบ่อยๆ เมื่อส่วนที่เจาะเป็นรูใส่หมุดสายสะพายเปื่อยมากๆเข้ารูก็จะกว้างขึ้น มีโอกาสที่หมุดสายสะพายจะหลุดออกง่ายขึ้นเมื่อเอียงได้มุมที่พอดี เหตุโศกนาฏกรรมสายสะพายกีต้าร์หลุดในขณะเล่นสดมันมีมาแล้วนะ อย่าเสียดายกับราคาสายสะพาย เกิดพลาดพลั้งขึ้นมามันจะไม่คุ้มราคากีต้าร์
นอกจากเรื่องความทนทานแล้ว เรื่องของวัสดุยังเกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษา เนื่องจากวัสดุแต่ละอย่างก็ต้องการการบำรุงรักษาที่ต่างกัน อย่างไนลอนเป็นวัสดุเคมี ไม่กลัวน้ำ ใช้ไปนานๆเริ่มเหม็นเหงื่อไคลก็เอาไปซักได้คล้ายๆ การซักเสื้อผ้า แต่สำหรับสายสะพายหนังเราจะทำได้อย่างมากก็แค่เช็ดสิ่งสกปรกภายนอกออก จะใช้น้ำยาขัดหนังก็กลัวสีหลุดอีก ดังนั้นขอให้คำนึงถึงเรื่องการดูแลรักษากันไว้ด้วยก็ดีนะ
TRICK ใช้ความใส่ใจให้มากกับส่วนปลายสายสะพายว่าวัสดุตรงนั้นดูแน่นหนา ทนทานหรือไม่ สายสะพายโนเนมถูกๆ มักมีจุดบกพร่องบริเวณนี้
สายสะพายกีต้าร์ Fender Neoprene Strap
5. ความปลอดภัยต่อเครื่องดนตรี
ข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าบางคนอาจคิดไม่ถึง เลยอยากหยิบยกมาเตือนกันไว้ คือสายสะพายทุกเส้นจะมีส่วนที่เป็นของแข็งอยู่บนตัวมัน เช่น ส่วนที่ไว้เลื่อนปรับความยาวหรือบางเส้นก็อาจมีการติดหมุดโลหะเพื่อประดับประดาสร้างความสวยงาม แต่เพื่อนๆ เคยคิดบ้างไหมว่า สิ่งเหล่านี้แม้จะดูสวยงาม แต่ขณะเดียวกันก็อาจสร้างความเสียหายต่อกีต้าร์หรือเบสสุดรักของเราได้ เช่น ส่วนที่ใช้เลื่อนปรับความยาวสายที่เป็นโลหะหรือทองเหลือง อาจบังเอิญไปตีโดนตัวกีต้าร์จนเป็นรอยยุบ หรือแย่กว่านั้นอาจขูดโดน finish ของกีต้าร์เป็นรอยแผลเส้นเล็กๆยาวๆ บาดแผลที่ตัวกีต้าร์อาจไม่ลึกเท่าไหร่ แต่บาดแผลในใจเจ้าของนี่ร้าวลึกยิ่งกว่า ฮ่าๆๆ
เรื่องนี้เกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุของผู้ผลิต ไม่เกี่ยวกับราคาของสายสะพาย เพราะผู้เขียนเห็นความเสี่ยงในเรื่องนี้มาหมดทั้งสายสะพายจีนราคาถูกๆ ไปจนถึงสายสะพายแพงๆ ดังนั้นจึงอยู่ที่ผู้ซื้ออย่างเราว่าจะเลือกสายสะพายสวยๆ ไว้ก่อนแล้วใช้อย่างระมัดระวัง หรือจะเลือกแบบที่ไม่มีโลหะวิ้งๆ แต่ใช้อย่างสบายใจ
TRICK ถ้าไม่อยากให้มีความเสี่ยงเกิดความเสียหาย ก่อนซื้อก็สำรวจส่วนประกอบต่างๆ ทุกจุดให้ดี ว่ามันมีชิ้นส่วนโลหะไหม ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าให้มีจะดีกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ แต่ถ้าไม่แคร์ ก็จัดได้
6. สีสัน ลวดลาย ความสวยงาม
เรื่องความสวยไม่เกี่ยวอะไรกับการใช้งานหรือความทนทาน แต่ขอโทษ มีผลต่อการตัดสินใจเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกซื้อ เพราะสีสันและลวดลายของสาย (รวมถึงความกว้าง) สะท้อนตัวตนของผู้ใช้เป็นอย่างมาก สำหรับผู้เขียนเองมองว่าสำคัญพอๆ กับการแต่งตัวของคนเล่น
เรื่องการเลือกสีกับลายเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวล้วนๆ บางคนไม่อะไรมากก็เลือกสีพื้นเข้มๆไว้ก่อน บางคนเลือกสีให้เข้ากับสีกีต้าร์ บางคนไม่สนลายกีต้าร์แต่ชอบลายสายสะพายก็เลือกซื้อสายเพราะลายโดนใจ บางคนชอบศิลปินก็หาสายสะพายที่เป็นรุ่น signature บางคนไม่มีรสนิยมเฉพาะแต่มีงบเยอะ ก็ซื้อมาสะสมสนุกๆ ก็มี
แต่ถึงมันจะไม่มีหลักการตายตัวในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลักการคร่าวๆ ในการเลือกอยู่เหมือนกัน หนึ่งในหลักการพื้นฐานที่คงไม่ต่างจากการเลือกเสื้อผ้า คือ เลือกสายสะพายสีพื้นเข้มๆ เช่นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม จะสามารถเข้ากันได้กับกีต้าร์ทุกสี แต่ถ้าเลือกสายสะพายสีเด่นๆ โทนใดโทนหนึ่ง เช่นสายสะพายสีแดง แล้วเอาไปกับกีต้าร์โทนสีตรงกันข้ามเช่น สีเขียวหรือน้ำเงิน ก็จะทำให้เกิดความ contrast ซึ่งอาจดูลงตัวหรือดูแปลกก็ได้ แล้วแต่เจ้าของจะผสมผสานออกมา บางคนเนี้ยบจัด มองเผื่อไปถึงสีของเสื้อที่ตัวเองใส่ตอนสะพายกีต้าร์ด้วย ก็มี
TRICK สายสะพายสีพื้น โทนเข้ม = สายไม่เด่น แต่เข้ากับกีต้าร์ทุกสี ถ้าสายสะพายมีลายมีสี = สายสะพายสวยเด่น แต่ดูไม่เข้ากับกีต้าร์บางสี
7. ราคา
ราคาของสายสะพายกีต้าร์/เบส ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังที่บอกไว้ข้างบนเนอะ โดยปกติแล้ว ผู้เขียนมักยกเอาเกณฑ์เรื่องราคาเป็นตัวแปรแรกๆ ในการพิจารณาเลือกสินค้าเครื่องดนตรี แต่สำหรับสายสะพาย ผู้เขียนมองว่าใส่ไว้เป็นประเด็นท้ายๆได้ เหตุผลเพราะสายสะพายคุณภาพดีเส้นหนึ่งราคาอย่างมากก็ไม่กี่พันบาท ยังไงก็ไม่เกินความสามารถของเราๆ ท่านๆ กีต้าร์ตัวหลายหมื่นหรือหลายเรายังกล้าซื้อใช้ แล้วทำไมสายสะพายดีๆ เท่ๆ เส้นละพันสองพันจะซื้อกันไม่ได้… จริงมั้ย
ส่งท้าย
ที่ว่ามาทั้งหมดก็เป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกซื้อสายสะพายกีต้าร์/เบส ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อเนอะ แต่ยังไงอยากเน้นย้ำส่งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่อยากให้เพื่อนๆ ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกซื้อสายสะพาย คือ ความทนทานไว้ใจได้ เรื่องความสวยขอให้เป็นเรื่องรองลงมา เพราะเครื่องดนตรีของเราฝากชีวิตไว้ที่ปัจจัยเรื่องความทนทานและความปลอดภัย ไม่ใช่ความสวย
ถ้าอยากได้สายสะพายแบรนด์คุณภาพที่ทั้งทนทานไว้ใจได้ ทั้งสวยเท่ จ่ายแล้วจบ แวะดูของใน bigtone.in.th กันได้ ของดีๆ มีเพียบ
สนใจสั่งซื้อสายสะพายกีต้าร์ ได้ที่ BigTone
** ติดต่อ สั่งซื้อ หรือ สอบถามเพิ่มเติม คลิกเลย!!